วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

ทฤษฏีภาวะผู้นำตามสถานการณ์ของเฮอร์เซย์และแบลนชาร์ด    
           เป็นทฤษฏีพัฒนาขึ้นโดยเฮอร์เซย์และแบลนชาร์ด  ทฤษฏีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  ทฤษฏีวงจรชีวิต  มีแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญ  คือ สถานการณ์ที่ต่างกันย่อมต้องการแบบอย่างผู้นำที่แตกต่างกัน   
การเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลได้นั้นจำเป็นที่ผู้นำจะต้องปรับแบบภาวะผู้นำของตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆเหล่านั้น
           เฮอร์เซย์และแบลนชาร์ด (Hersey and Blanchard ) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำของบุคคลว่า  ผู้นำแต่ละคนจะแสดงพฤติกรรมการนำต่อผู้ตาม โดยการผสมผสานพฤติกรรม ๒ ด้านเข้าด้วยกันดังต่อไปนี้
                ๑. พฤติกรรมที่มุ่งงาน  เป็นพฤติกรรมที่ผู้นำแสดงออกต่อผู้ตามในแง่การควบคุม กำกับ กำหนดหน้าที่บทบาทของผู้ตาม
                ๒. พฤติกรรมมุ่งความสัมพันธ์ เป็นพฤติกรรมที่ผู้นำแสดงออกต่อผู้ตามในแง่ที่สร้างความสัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคล หรือ ภายในองค์กร ความเป็นกันเอง ให้การสนับสนุนอำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน
            ทฤษฏีภาวะผู้นำตามสถานการณ์ของเฮอร์เซย์และแบลนชาร์ด  จัดกลุ่มคนไว้  4  กลุ่ม   ดังนี้
                1. M1 (บัวใต้น้ำ) เป็นพวกไม่ค่อยมีความรู้ความสามารถ ขาดความเต็มใจในการทำงาน ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ วุฒิภาวะต่ำ การบริหารคนกลุ่มนี้ต้องใช้แบบของการสั่ง บอกทุกอย่าง
                2. M2 (บัวกลางน้ำ) คนกลุ่มนี้มีวุฒิภาวะต่ำถึงปานกลางมีความรู้ความสามารถไม่มากนัก แต่มีความเต็มใจในการทำงาน รับผิดชอบงานเป็นผู้ที่มั่นใจแต่ขาดความชำนาญ การบริหารคนกลุ่มนี้ต้องใช้แบบการขายความคิด  
                3. M3 (บัวปริ่มน้ำ) คนกลุ่มนี้มีวุฒิภาวะปานกลางถึงสูง ทำงานตามที่ผู้นำต้องการ ผู้นำต้องมีการสื่อสารสองทางและรับฟังอย่างสนใจ เพื่อสนับสนุนผู้ตามให้พยายามใช้ความสามารถที่มีอยู่ ให้การสนับสนุน ไม่ออกคำสั่ง ผู้นำและผู้ตามร่วมกัน ในการตัดสินใจ การบริหารคนกลุ่มนี้เน้นการทำงานแบบการมีส่วนร่วม
                4. M4 (บัวพ้นน้ำ) คนกลุ่มนี้มีวุฒิภาวะสูงมีความรู้ความสามารถมีความเต็มใจและมั่นใจในการปฏิบัติงานมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย การบริหารคนกลุ่มนี้ใช้รูปแบบการมอบหมายงานให้ทำ/มอบอำนาจในการตัดสินใจ  
ลักษณะของผู้ตาม              วุฒิภาวะของผู้ตาม ประกอบคุณสมบัติ ๒ ประการ ดังนี้
                ๑. ความสามารถในงาน ได้แก่ ความเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และ มีทักษะ ในงานที่ทำซึ่งเกิดมาจากผลการศึกษา อบรม ตลอดจนถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงาน
                ๒. ความใส่ใจในงาน ประกอบด้วยความเป็นผู้มีความมั่นใจ มีแรงจูงใจ มีความรักความผูกพัน ความรับผิดชอบ มุ่งมั่นในงานนั้น
บทสรุป               
           บุคคลตามทฤษฎีภาวะผู้นำตามสถานการณ์ สามารถแบ่งได้ 4 กลุ่มและมีวิธีบริหาร ดังนี้
               M1 (วุฒิภาวะต่ำ,ความสามารถน้อย,ขาดความรับผิดชอบ = S1 ( Telling )  การสั่งการ
               M2 (วุฒิภาวะปานกลาง,มีความตั้งใจแต่ขาดประสบการณ์ = S2 ( Selling )  การขายความคิด
               M3 (วุฒิภาวะค่อนข้างสูง แต่ยังขาดความมั่นใจ ขาดแรงจูงใจ = S3 ( Participating ) การร่วม
               M4 (วุฒิภาวะสูง ความมั่นใจสูง มีความรับผิดชอบ = S4 (Delegating) การมอบหมายงาน/อำนาจตัดสินใจ
……………………………………………………